Future Skills : ทักษะแห่งอนาคต
เป็นที่ทราบกันดีว่าเรากำลังเข้าสู่ ศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มรูปแบบแล้ว
คำถาม คือ มนุษย์เตรียมความพร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 กันไว้อย่างไร?
เป็นคำถามที่เราจะมาค้นหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
สิ่งที่เรารู้แน่ๆ ในตอนนี้ คือ ทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ไม่น่าจะใช่ทักษะเดียวกับศตวรรษที่ 20 อย่างแน่นอน
ระบบการศึกษาปัจจุบันล้วนเป็นระบบการศึกษาที่ถูกออกแบบมาจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ซึ่งนับเป็นเวลาล่วงเลยมากว่า 100 ปีแล้ว
ปัจจุบันเราพบว่าระบบการศึกษาเป็นเหมือนสายการผลิตของโรงงานซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงอยู่ในศตวรรษที่ 21
นักเรียนนักศึกษาถูกฝึกให้มีความคล่องแคล่วในการแก้ไขปัญหาซ้ำซากที่ใช้ได้ทุกสถานการณ์ แต่ขาดทักษะในการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่ไม่อาจใช้วิธีการมาตรฐานได้
แต่ในเมื่อ AI และ Robot สามารถทำงานที่ซ้ำซากและจำเจแทนมนุษย์ได้แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ระบบการศึกษาปัจจุบันยังคงผลิตออกมา ก็ไม่ต่างอะไรกับชิ้นเนื้อที่ไม่สามารถใช้งานได้ เพราะขาดทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต
ระบบการศึกษาควรพิจารณายกเลิกการเรียนการสอนที่ถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบครูผู้สอน หันไปใช้การประเมินโดยให้นักเรียนและครูมีส่วนร่วมกันอย่างใกล้ชิดในงานที่ท้าทาย
การได้ทำงานที่ท้าทายและมีความหมายต่อตัวเองและต่อทีม ถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อกระบวนการการเรียนรู้
“เพราะมนุษย์ในยุคต่อจากนี้ จะมองหาความหมายเป็นสำคัญ”
การทดสอบไม่ใช่แค่เรื่องที่จะทำให้เสร็จภายใน 2 ชั่วโมงแล้วใช้เครื่องจักรตรวจให้คะแนน สำคัญคือการค้นหาว่านักเรียนเข้าใจและรับรู้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดร่วมกันหรือไม่
เน้นการประเมินที่ผลงาน และ กระบวนการเรียนรู้ตลอดการเดินทางไปถึงเป้าหมาย ไม่ใช่แค่การวัดผลที่ผลลัพธ์
“จะมีนักวิทยาศาสตร์ซักกี่คนที่ค้นพบสิ่งที่ยิ่งใหญ่จากการทดลองครั้งแรก”
การทดสอบในระบบการศึกษาปัจจุบันนั้นห้ามใช้เทคโนโลยี แต่ในชีวิตจริงเราสามารถเลือกใช้เครื่องมือได้อย่างอิสระ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของมนุษย์ไปเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นความสามารถในการเลือกใช้เครื่องมือทางดิจิทัล ให้เหมาะสมกับงานก็ถือเป็นทักษะที่สำคัญอย่างนึง
ทักษะทางดิจิทัลถือเป็นทักษะขั้นพื้นฐาน (foundation skill) ของมนุษย์ในยุคต่อจากนี้ แบ่งออกเป็น 3 ทักษะใหญ่ๆ ดังนี้
ทักษะการอ่านออกเขียนได้ทางดิจิทัล (digital literacy)
ความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ทางดิจิทัล หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือความสามารถในการใช้อุปกรณ์ และเครื่องมือ
ทางดิจิทัล ได้อย่างคล่องแคล่ว เช่น การใช้งาน email, การย้ายข้อมูลในโทรศัพท์, การค้นหาข้อมูล, การเลือกใช้งาน application รวมไปถึงความสามารถในการดูแลและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์และเครื่องมือทางดิจิทัลได้ด้วยตนเอง
สังเกตง่ายๆ ได้จากเด็กที่เกิดมาในยุคที่มี smart phone แล้ว จะมีความสามารถนี้ติดตัว
ทักษะการคัดกรองและบริหารจัดการข้อมูล (data literacy)
ความสามารถในการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ไหลบ่าเข้ามา ว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์
รวมไปถึงความสามารถในการค้นหา, รวบรวม, วิเคราะห์และตีความหมายข้อมูลทั้งหมดถือเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญ
ทักษะการเข้าใจการกลไกเชิงโปรแกรม (programmatic literacy)
ความสามารถนี้ถือเป็นความสามารถขั้นพื้นฐานใหม่ของมนุษย์ในช่วงกลางศตวรรษที่ 21 เพราะสิ่งต่างๆรอบตัวเรา
จะเริ่มประกอบไปด้วยความสามารถในการตั้งค่าเชิงสูง (Programmable) และสามารถสร้างเงื่อนไขต่างๆ ที่เราต้องการ
ได้อย่างอิสระ รวมไปถึงความสามารถในการสื่อสารและควบคุม AI และ Robot
อีกแกนทักษะที่สำคัญสำหรับยุคถัดไปก็คือ soft skill ซึ่งจะเป็นทักษะสำคัญที่จะดำรงไว้ซึ่งความเป็นมนุษย์ในยุคต่อจากนี้
เช่น ทักษะการตัดสินใจ, ทักษะการแก้ไขปัญหา, ทักษะการสังเคราะห์, ทักษะการสร้างสรรค์, ทักษะการทำงานเป็นทีม, ทักษะการสื่อสาร เป็นต้น
ปัจจุบันเราจะเห็นนักเรียนกำลังมุ่งมั่นกับการเรียนรู้และหาข้อมูลด้วยตนเอง เช่น
- เรียนเขียนโปรแกรมผ่าน www.coursera.org
- ค้นคว้างานวิจัยจาก https://arxiv.org/
- ประชุมผ่าน Google Hangout
- วางแผนทำเว็บไซต์ผ่าน wordpress
- ทำ presentation ผ่าน google slide
ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างกระบวนการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือที่อยู่รอบๆตัวเรา ทักษะทางดิจิทัลนั้นได้มาจากการฝึกฝนและการลงมือทำจริงซ้ำๆ จนเชี่ยวชาญ soft skill ก็เช่นกัน
ทีนี้ลองนึกภาพระบบการศึกษาปัจจุบัน แล้วคุณจะรู้คำตอบของคำถามที่ว่า “มนุษย์เตรียมความพร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 กันไว้อย่างไร?”